ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พร้อมเจรจาเขมร

จะส่งสุเทพไปคุยถ้าหากไม่กระทบในเรื่องเขตแดน "สุเทพ" พร้อมเจรจากับ "ฮุน เซน" คลี่คลายความขัดแย้งเรื่องปราสาท พระวิหาร แต่รัฐบาลกัมพูชายังไม่มีท่าทีใดๆ ขณะที่ "สุขุมพันธุ์" ในฐานะอดีต รมช.ต่างประเทศ ชี้แจงการทำเอ็มโอยูเป็นประโยชน์กับไทย เพราะใช้เป็นกรอบสำคัญ แก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดน ด้านประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย โต้เอ็มโอยูปี 46 สมัยรัฐบาลทักษิณ ทำตามเอ็มโอยู 43 ของรัฐบาลชวน ที่ไปรับรองแผนที่ของฝรั่งเศส ส่วนคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนฯ มีมติเสนอรัฐบาลประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ภายหลังที่ ครม.มีมติให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการในการติดตามเอกสาร และศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บาห์เรนแต่หลายฝ่ายยังต้องการให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 (เอ็มโอยู 2543) อ้างทำให้ไทยเสียเปรียบนั้น ต่อมาเมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 4 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาว่า ขณะนี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานโดยจะมีทั้งตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรมและกองทัพร่วมเป็นกรรมการด้วย แนวทางของรัฐบาลมุ่งรักษาอธิปไตยเป็นสำคัญ ยอมรับว่าการผลักดันให้ขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวมีแต่จะสร้างความตึงเครียด แต่ถ้ากัมพูชาพร้อมที่จะมาพูดคุยหรือทำอะไรร่วมกันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ขณะนี้ไม่มีสัญญาณจากกัมพูชา ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุณี กษัตริย์ กัมพูชา ส่งจดหมายถึงนายกฯเรียกร้องให้ 2 ฝ่ายใช้เขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองของ 2 ประเทศ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าทำได้ก็ดีเพราะคุณค่าของสถานที่จะถ่ายทอดมาสู่ประชาชนได้แต่กลายมาเป็นการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องเขตแดนมันก็เป็นปัญหาอุปสรรค และไม่มีทางที่ประชาชนฝ่ายใดจะยอม ถ้าเราสามารถยอมรับการมาใช้ร่วมกันได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ต่อข้อถามว่า นายกฯจะส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงไปเจรจากับสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงต้องดูจังหวะเวลาและท่าทีของหลายฝ่ายก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของรัฐบาลกัมพูชาว่าเขาสนใจในกรอบความร่วมมือแค่ไหน แต่รัฐบาลไทยความร่วมมือที่ไม่กระทบเรื่องเขตแดน หากกัมพูชาพร้อมก็จะส่งนายสุเทพไปพูดคุย ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักการประเทศไทยยึดหลักที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยความเข้าใจและสันติ ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง กรณีเรื่องเขาพระวิหารเราไม่ได้ไปโต้แย้งเรื่องตัวพระวิหาร และได้ทำตามที่ศาลโลกได้ตัดสินไว้เมื่อปี พ.ศ. 2505 แต่ว่าในพื้นที่ที่อยู่รอบเขาพระวิหารยังเป็นพื้นที่ที่พิพาทกันอยู่ระหว่างกัมพูชากับไทย จะต้องหาวิธีตกลงกันให้ได้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหนกันแน่ ช่วงระหว่างที่เขตแดนยังไม่เรียบร้อย มีหนทางไหนที่จะพูดคุยกันเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งก็สมควรทำและตนยินดีที่จะไปพบกับนายกฯฮุน เซน ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. อดีต รมช.ต่างประเทศ ได้ส่งแถลงการณ์เรื่องบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา 43 ว่า ที่ผ่านมาเกิดความสับสนเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาซึ่งที่มาของเอ็มโอยูดังกล่าวรัฐบาลทั้งสองประเทศมีเจตนาตรงกันที่จะส่งเสริมความสัมพันธไมตรีอันดีจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกให้ถูกต้อง หลังจากสูญหายไปกว่า 100 ปีช่วงเกิดสงครามในกัมพูชา วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดทำหนังสือสัญญาเพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง ซึ่งหนังสือสัญญานี้เป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ อดีต รมช.ต่างประเทศกล่าวอีกว่า เอ็มโอยูดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยมีข้อตกลงจากทั้ง 2 ฝ่ายว่า ระหว่างการสำรวจจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในสภาพแวดล้อมของบริเวณพื้นที่เขตแดน ส่วนใครได้ใครเสียจากเอ็มโอยูคิดว่าทั้ง 2 เป็นฝ่ายได้เพราะการยอมรับอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญา ค.ศ.1907 เป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับดำเนินงานเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย โดยเฉพาะมาตรา 5 ของเอ็มโอยูเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยด้วยซ้ำเพราะเป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เห็นได้จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณช่วงที่เกิดข้อพิพาท กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเอกสารอ้างอิงทักท้วงทุกครั้ง ด้านคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯ ให้ตรวจสอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่บริเวณชายแดนทั้งหมด 28 แห่ง ว่ามีแนวเขตทับกับแนวสันปันน้ำซึ่งเป็นแนวเขตที่ใช้แบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ เพราะหากอุทยานแห่งชาติใช้แนวเขตกับแนวสันปันน้ำในอนาคตจะต้องมีปัญหาเหมือนกับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารได้ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความพยายามระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเอ็มโอยูปี 2546 ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่การออกเอ็มโอยูปี 2546 ออกตามเอ็มโอยูปี 2543 ในสมัยรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปรองรับแผนที่ของฝรั่งเศส อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 กำหนดให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ของกัมพูชาทั้งที่จริงๆแล้วเป็นของไทย ใครเดินทางไปปราสาทพระวิหารต้องผ่านประเทศไทย หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องไปยกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 หรือไปเจรจาทำความเข้าใจขอเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเอ็มโอยูกับกัมพูชาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด ไม่ใช่จะหาเรื่องโยนความผิด ให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกตนขายชาติ ขายแผ่นดิน ขณะที่นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่าที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชามาให้ข้อมูล ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯขอสนับสนุนการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและเสนอให้รัฐบาลประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯจึงมีมติเป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวต่อรัฐสภาเอง เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อทำงานควบคู่กับภาครัฐ ที่พรรคการเมืองใหม่ ได้จัดสัมมนาเรื่อง "ผ่าทางตัน ข้อพิพาทเขาพระวิหาร ทำไมต้องยกเลิก เอ็มโอยู 43" นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ โดยนายปานเทพกล่าวว่า จากภาพถ่ายดาวเทียม ถ่ายถนนคอนกรีตที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2552 จากฝั่งกัมพูชาขึ้นเขาพระวิหาร และถนนคอนกรีตอีกเส้นสร้างไต่ตามแนวขอบสันปันน้ำมาถึงตัวปราสาทเป็นสิ่งกัมพูชานำไปอ้างต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เพราะมีถนนมาจากฝั่งกัมพูชาโดยไม่ต้องขึ้นจากฝั่งไทย ถ้าเอ็มโอยู 2543 ดีจริง จะเกิดถนนสองเส้นและมีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างไร ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ทันที และทำเอ็มโอยู 2554 ขึ้นมาใหม่ ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มภาคีคณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กว่า 50 คน นำโดยนายสามารถ จับโจร อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทยกัมพูชา พ.ศ.2543 หรือเอ็มโอยู 2543 และประเด็นปัญหาประสาทพระวิหารโดยเฉพาะประเด็นการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพราะทำให้ประชาชนที่หวงแหนแผ่นดินไทยรู้สึกว่าเราได้สูญเสียดินแดนไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้ฝ่ายกัมพูชาแล้ว รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่ปิดกั้นความเป็นจริง หรือปิดหูปิดตาประชาชน ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ นายอรุณศักดิ์ โอชารส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ (คปศ.) และคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผวจ.ศรีสะเกษ โดยมีนายประวัติ รัฐิรมย์ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้รับหนังสือ ในหนังสือระบุว่าเนื่องจากประชาชนไทยส่วนหนึ่งเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย และมีการเคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด ต่อมาตัวแทนรัฐบาลมีการทำเอ็มโอยูกับกัมพูชาในปี 2543 ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ ยากแก่การแก้ไข และมีทางเดียวคือรัฐบาลต้องกล้ายกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของชาติ Bookmark and Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น