ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สุวิทย์โต้ข้อครหา 'เสียค่าโง่'เขมร

เซ็งถูกด่า ชี้ลงนามไม่ผูกมัด 'พธม.'รุก เลิกMOU "สุวิทย์" ยันเสียงแข็ง มติ 5 ข้อที่ลงนามไม่ผูกมัดไทย แค่ขอให้เลื่อนการประชุมเท่านั้น ซัด "ซก อาน" ประกาศชนะหวังเรียกแต้มการเมืองในประเทศ แฉที่แท้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารหยุดนิ่ง มา 2 ปีแล้ว ไม่ได้คืบหน้าอย่างที่โม้ บ่นเซ็งถูกพวกม็อบด่าว่าเสียค่าโง่ให้เขมร "ชวนันท์" โอ่ อ้างเอ็มโอยู 43 มีคุณูปการทำให้ยับยั้งเขมรไว้ได้ ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นคำขาดให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูอย่างเดียว ขู่หากดื้อดึงเจอม็อบลุยแน่ ด้าน "อภิสิทธิ์" เสียงอ่อย วอนคนกันเองอย่าปลุกม็อบ พร้อมเปิดไฟเขียวยื่นตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ส.ค. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการในการติดตามเอกสาร และศึกษารายละเอียดทั้งหมด เพื่อเตรียมการประชุมคณะ กรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปที่ประเทศบาห์เรน นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2555 ถัดจากประเทศบาห์เรนด้วย ส่วนกรณีการลงนามในข้อมติ 5 ข้อนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นร่างข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่มีข้อผูกพันอะไร จึงลงนามเพื่อให้รับทราบไว้เท่านั้น และเป็นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่ใช่มติใหม่ "แต่มีข้อหนึ่งเป็นข้อมติที่ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นปีหน้า ดังนั้น ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ถ้าเราลงมติตามข้อเสนอ 7 ข้อของกัมพูชาต่างหาก จะเป็นการยอมรับว่าที่ประชุมเห็นชอบตามกัมพูชาและทำให้การขึ้นทะเบียนมีความสมบูรณ์ ยืนยันว่าที่ได้ลงนามไปไม่มีข้อใดที่ระบุว่า พิจารณาหรือยอมรับเอกสารแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาใดๆทั้งสิ้น เพราะเราไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย และยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ดังนั้น จะให้เราพิจารณาได้อย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีลายเซ็นย่อของตนก็ไม่ถือเป็นเอ็มโอยู หรือเป็นข้อผูกพันใดๆที่มีผลผูกมัดกับประเทศไทยไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม" นายสุวิทย์กล่าว นายสุวิทย์แถลงต่อว่า กรณีการระบุในข้อมติว่าให้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ หรือไอซีซี เป็นการรายงานของกัมพูชาตามข้อมติเดิมที่ควิเบก แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ยอมรับ เพราะถึงแม้เป็นมติ แต่ถ้าจัดตั้งโดยกัมพูชาฝ่ายเดียวเราก็ยอมรับไม่ได้ ถ้าจะจัดตั้งไอซีซี ต้องพิจารณาองค์ประกอบว่ากรรมการจะมาจากไหน กระบวนการสรรหาเป็นอย่างไร และอำนาจหน้าที่จะเป็นอย่างไร ถ้าข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนเราก็ไม่เอาด้วย ตนได้ทำความเข้าใจกับประธานคณะกรรมการมรดกโลกแล้วว่า การลงนามครั้งนี้ไม่มีข้อความใดที่ไปยอมรับเอกสารของกัมพูชา ทำให้เกิดการผูกมัดกับไทยไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดนายซก อาน รมว.ต่างประเทศ กัมพูชา จึงประกาศว่าเป็นชัยชนะของกัมพูชา นายสุวิทย์ กล่าวว่า นายซก อาน จะพูดอะไรก็ได้ที่จะสร้างคะแนนนิยมในทางการเมืองในประเทศตัวเอง ตนจะประกาศว่าเป็นชัยชนะของไทยก็ไม่เสียหาย แต่ความจริงกัมพูชาไม่ได้ชนะ เพราะเอกสารของกัมพูชายังไม่ถูกพิจารณา คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้รับเอกสารของกัมพูชาด้วยซ้ำ สถานภาพของกัมพูชาจึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ยังอยู่จุดเดิม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยนอกจากจะไม่ยอมรับแผนของกัมพูชาแล้ว ยังคัดค้านไปถึงทุกฝ่ายตั้งแต่ประธานและคณะกรรมการมรดกโลก จุดยืนสำคัญของรัฐบาลไทยคือต้องปักปันเขตแดนให้ชัดเจนก่อน หากทำไม่เรียบร้อยก็ขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมได้ต่อไปจนกว่าจะเรียบร้อย เพราะการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะมองข้ามความสำคัญของอำนาจอธิปไตยของประเทศที่อยู่ติดกันไม่ได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายสุวิทย์ได้นำเอกสารที่รัฐบาลไทยยื่นคัดค้านแผนการบริหาร จัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ต่อคณะกรรมการมรดกโลกมาแจกจ่ายสื่อมวลชน พร้อมทั้งบ่นไปยังกลุ่มผู้ประท้วงว่า "หนักใจที่สุดตอนนี้คือคนไทยไม่เป็นเอกภาพ ต่อสู้มาขนาดนี้แล้วยังจะกล่าวหาว่าไปเสียค่าโง่ รู้สึกเหนื่อยใจมาก ถ้าจะถูกถอดถอนเพราะเรื่องนี้ก็ยอม เพราะ ไม่ใช่เพิ่งโดนครั้งแรก" นายสุวิทย์กล่าว ที่สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ นายซูซาน วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่ายหน่วยงานข้อมูลข่าวยูเนสโก เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการรับมติเรื่องแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหาร โดยนายชูลา เฟร์ไรรา ประธานคณะกรรมการมรดกโลก และ รมว.วัฒนธรรมของบราซิล ได้ยื่นมติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนไทยและกัมพูชา รับขั้นตอนของประเทศกัมพูชาในการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังมีการรับทราบถึงการที่ศูนย์มรดกโลก ได้รับเอกสารที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา โดยทางคณะกรรมการจะพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี 2554 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีสถานะของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 14 มิ.ย.2543 ว่า แผนที่ฉบับ 1 : 200,000 ตามอนุสัญญาเวียนนาฉบับปี 1904 ที่ไประบุไว้ในข้อ 1 ค ของเอ็มโอยู ปี 43 ไม่ใช่แปลว่าเราไปยอมรับแผนที่ดังกล่าว เพราะเอ็มโอยูที่ทำขึ้นนั้นไม่ใช่ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นเพียงความตกลงที่จะเริ่มเจรจา ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1908 ที่มีแผนที่ฉบับดังกล่าว ซึ่งกัมพูชายึดถือแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นการวาดแผนที่ไม่ตรงกับสันปันน้ำที่แท้จริง และฝ่ายไทยไม่ได้ประท้วง เป็นเหตุให้เมื่อมีการขึ้นศาลโลก ปี 2505 กัมพูชาได้แนบแผนที่ฉบับนั้นไปให้ศาลโลกพิจารณาตัดสินความเป็นเจ้าของตัวปราสาทพระวิหาร ทำให้เราพ่ายแพ้ในครั้งนั้น นายชวนนท์กล่าวต่อว่า จนเมื่อปี 2543 รัฐบาลเห็นว่า หากปล่อยให้กัมพูชายึดแผนที่ฉบับนั้น และไทยยึดสันปันน้ำต่อไป ความขัดแย้งมีแต่จะบานปลายมากขึ้น จึงชวนกัมพูชามาลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู 2543 เพื่อปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาและสนธิสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลักสันปันน้ำ กัมพูชาก็ตกลง แต่ขอให้แนบแผนที่ 1 : 200,000 ประกอบการพิจารณา แต่การแนบแผนที่นั้นไม่ได้หมายความว่าไทยยอมรับ เพราะเส้นเขตแดนมีอยู่แล้วตามสันปันน้ำและเอ็มโอยู เป็นแต่เพียงทำให้สันปันน้ำปรากฏบนแผนที่ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง "การประชุมมรดกโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ คุณูปการของเอ็มโอยู หากเราไม่มีเอ็มโอยู กัมพูชาก็จะแนบแผนที่ 1 : 200,000 เข้าไปเหมือนปี 2505 และเหตุการณ์จะกลับไปเหมือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คณะกรรมการมรดกโลกจะบอกว่าแผนที่นี้เป็นแผนที่ฉบับเดียวที่มี และไทยไม่เคยปฏิเสธอย่างเป็นทางการ แต่ในทางกลับกันเมื่อเรามีเอ็มโอยู ทำให้กัมพูชาไม่สามารถแสดงถึงเส้นเขตแดน และพื้นที่บริหารจัดการที่ชัดเจนได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่กันชนจะอยู่ตรงไหน โดยในรายละเอียดการเสนอต่อมรดกโลกตามรายงานของกัมพูชา ระบุไว้ชัดเจนว่า แผนที่ที่ชัดเจนจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จะพิจารณาร่วมกันแล้วเสร็จ จึงเห็นชัดเจนว่าเอ็มโอยูฉบับนี้จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะยับยั้งกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวในครั้งนี้ได้" นายชวนนท์กล่าว ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในการทำความเข้าใจปัญหาชายแดนกับกัมพูชาว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ของทหารในพื้นที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่มีการปฏิบัติใดที่นอกเหนือไปจากเดิม ไม่มีการเพิ่มกำลังหรือเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังอยู่กันอย่างปกติ คงเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลคือ ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา คงใช้มาตรการในการพูดคุยเจรจาเป็นกลไกแก้ปัญหา ส่วนที่มีชาวกัมพูชาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ต้องไปพูดคุยกัน คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ช่วงปลายเดือนนี้คงมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ตามปกติ เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์การไปมาหาสู่กันยังเป็นปกติ ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ นำโดย นายวีระ สมความคิด กล่าวถึงกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงนามกับกัมพูชาในการประชุมมรดกโลกที่บราซิล ว่า เอกสารการลงนามที่กัมพูชายื่นไปในที่ประชุมครั้งนี้ มีการพูดถึงแผนที่ระบุว่า ข้อ 1. รับในเอกสารนี้ ข้อ 2. เป็นการทบทวนว่า ผู้ที่ลงนามต้องปฏิบัติตามมติการประชุม ครั้งที่ 31, 32 และ 33 ข้อ 3. ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกรับเอกสารชิ้นนี้ ไม่ ถือเป็นการยื่นที่ผิดระเบียบ แม้แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ค้าน ข้อ 4. ต่อไปนี้จะแสดงความยินดีที่กัมพูชาเดินหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการไอซีซี เพื่ออนุรักษ์ปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืนต่อไป และข้อ 5. ตกลงกันว่าในการประชุมปีหน้าจะมาพูดถึงเอกสารชิ้นนี้ รวมถึงแผนที่จะพัฒนาปราสาทพระวิหารให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งไม่มีตรงไหนที่บอกว่า นายสุวิทย์คัดค้านตามที่รัฐบาลสั่งให้ไปคัดค้าน แต่เอกสารชิ้นนี้กลับผูกมัดให้ไทยยอมรับในข้อเสนอของกัมพูชา และไม่ได้ปฏิเสธแผนที่ 1 : 200,000 "ถ้ามีการยกเรื่องนี้เข้าสู่การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการพิพากษาออกมาได้ว่าการกระทำของนายสุวิทย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดแล้วเราจะปฏิเสธว่าไม่ผูกพันกับไทยได้หรือไม่ ในเมื่อนายสุวิทย์ไปในนามตัวแทนรัฐบาลไทย กัมพูชาจะยอมให้ไทยปฏิเสธหรือไม่ ตนรู้สึกว่าไทยเสียเปรียบ รัฐบาลจะต้องตอบมาว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะกัมพูชาได้ประกาศชัยชนะไปแล้ว ตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลไทยออกมาบอกว่าเราไม่ได้เสียเปรียบ เพียงแต่ลงนามรับร่างเท่านั้น อีกทั้งการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯระบุว่า ไทยยังไม่เซ็นรับร่างของกัมพูชานั้น อาจเป็นเพราะนายกฯยังไม่ได้เห็นเอกสารที่นายสุวิทย์ได้ เซ็นในวันนั้น ในเมื่อนายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้เห็นเอกสารจะตีความได้หรือไม่" นายวีระกล่าว เมื่อถามว่า การยกเลิกเอ็มโอยู 43 จะนำไปสู่ การผลักดันประชาชนและทหารกัมพูชาออกไปจากพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ นายวีระกล่าวว่า ตนไม่พอใจและรู้สึกว่ารัฐบาลทำผิดพลาดมาตลอด คือการที่ยอมให้คนกัมพูชาเข้าไปยึดดินแดนของไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี และไม่ผลักดันออกไป จะมาบอกว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ทับซ้อนได้อย่างไร เราต้องไม่หลงประเด็น กัมพูชาจะมาขออ้างแผนที่ 1:200,000 แล้วมาลงนามในเอ็มโอยู 43 เพื่อปักปันเขตแดนใหม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็น จึงควรจะยกเลิกเอ็มโอยู 43 ทันที เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลยังยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกเอ็มโอยู 43 จะทำอย่างไร นายวีระกล่าวว่า เราจะพิจารณาต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายที่ทำให้ไทยเสียดินแดนและอธิปไตยหรือไม่ โดยจะดำเนินการที่จะจัดการรัฐบาลโดยใช้กฎหมาย ซึ่งคงต้องรอในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่พวกเราจะไปฟังคำตอบจากนายกฯที่ทำเนียบรัฐบาล ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรฯไม่พอใจนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปลงนามในมติการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก อาจทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารว่า ยืนยันว่าในการลงนามต่างๆ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ไม่มีอะไรที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ เอกสารที่ปรากฏอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกขณะนี้ น่าจะเป็นการยืนยันได้ว่าเอ็มโอยูเป็นส่วนสำคัญให้กัมพูชาไม่สามารถใช้แผนที่ที่เขาต้องการจะใช้ได้ ถ้าเอ็มโอยูไปรับรองแผนที่ได้ กัมพูชาคงยื่นแผนที่เข้าพิจารณาไปแล้ว แต่ที่ยื่นแผนที่ไม่ได้ เพราะติดขั้นตอนการดำเนินการของเอ็มโอยู ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มที่ออกมาคัดค้านต้องการให้ยกเลิกข้อเอ็มโอยู 43 โดยยื่นคำขาดว่าหากภายในวันที่ 7 ส.ค. ไม่มีการยกเลิกเอ็มโอยู จะชุมนุมหน้าทำเนียบ รัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พูดตรงๆ ตนไม่อยากให้มีการชุมนุม อยากให้เอาตัวแทนมาพูดคุยกับคนทำงาน ที่ผ่านมาคุยกันก็เป็นกลุ่มเดียวบ้าง คนละกลุ่มบ้าง มันยังไม่ชัดเจนว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มเดียวกันหรือไม่ มั่นใจว่าสิ่งที่นายสุวิทย์ไปทำงานในฐานะหัวหน้าดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย การยื่นตรวจสอบตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่มีปัญหา เป็นสิทธิที่ทำได้ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกปี 2012 โดยมีประเทศกัมพูชาเสนอตัวเป็นคู่แข่ง และนายกฯสั่งให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพ และศึกษาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อดูแนวทางต่อสู้กับกัมพูชา มีนายสุวิทย์เป็นประธาน โดยให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวเดินสายชี้แจงประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มการตัดสินใจของประเทศใหญ่ๆ ยังไม่ชัดเจน แต่ไม่เอนเอียงเข้าข้างประเทศไทยมากนัก หลายประเทศไม่แสดงจุดยืน เนื่องจากไม่ต้องการทะเลาะกับไทย-กัมพูชา แต่มีประเทศใหญ่ 3-4 ประเทศที่ต้องล็อบบี้ให้ได้ เพราะมีบทบาทในการอนุรักษ์มรดกโลก จึงต้องโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญเรื่องเขตแดน ก่อนที่จะเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ ยอมรับว่าขณะนี้กัมพูชาเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะเหตุผลหลายอย่าง Bookmark and Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น